Last updated: 19 Feb 2021 | 2599 Views |
“สมการแห่งความสำเร็จทำให้ 3 ปีจากนี้ไป เมื่อบริษัทเป็นมหาชนและมีกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยจะผลักดันธุรกิจที่มีอยู่ 3 ขา จากตลาดแรก, ตลาดรอง และวาณิชธนกิจ โดยจะนำบริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นตัวเสริมทีมให้กับ KPM เติบโตอย่างครบวงจรอย่างยั่งยืน”
สั่งสมประสบการณ์กว่า 20 ปี จนตกผลึกทางความคิดว่า “ตลาดตราสารหนี้” ยังคงเป็น “ศาสตร์” แห่งการลงทุน ที่ซ่อนมูลค่ามหาศาล ผลักดันให้เป็นเหตุผลสนับสนุนให้ “สุรศักดิ์ บุณยะชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เคพีเอ็ม จำกัด หรือ KPM ตัดสินใจฟอร์มทีมจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อวางวิชั่นเดินไปสู่เป้าหมายอย่างมีทิศทาง
สุรศักดิ์ บุณยะชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคพีเอ็ม จำกัด หรือ KPM เล่าว่า ผมจบวิศวโยธา และไฟแนนซ์จากบอสตัน ก่อนบินกลับไทยมาเรียนด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัยจุฬา โดยเริ่มทำงานที่แรกที่บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ ต่อมาย้ายไปอยู่ที่หลักทรัพย์แอ๊ดคินซัน และบล.คันทรี่ กรุ๊ป ก่อนย้ายเข้ามาอยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน ประเทศไทย
จุดเปลี่ยน
จุดพลิกผันก่อตัวเมื่อครั้งมาอยู่ที่บริษัท ยูโอบี เคย์เฮียน ได้เข้ามาดูตราสารหนี้ ทำให้ตีโจทย์ให้กับตนเองได้ว่า ตราสารหนี้เป็นตลาดที่ท้าทายและมีมูลค่ามหาศาลซ่อนอยู่ ที่สำคัญพันธมิตรที่มีอยู่ยังเติมประสบการณ์ให้เห็นถึงศักยภาพที่คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกมาโต ที่ผ่านมาผมทำงานกับทุกฝ่าย ผ่านเรื่องหุ้นจนอิ่มตัว ดังนั้นจึงคิดมาทำตราสารหนี้ ทำให้รู้ว่าตลาด “ตราสารหนี้” มีเม็ดเงินใหญ่กว่าตลาดหุ้นมาก ชนิดมหาศาล ดังนั้น การได้อยู่กับหุ้นเห็นการเทรดทุกวันแรกๆตื่นเต้น แต่พอมาจับตราสารหนี้ กลายเป็นอีกความรู้สึก ซึ่งความหวือหวาตื่นเต้นอาจไม่เท่าตลาดหุ้น แต่ต้องเพิ่มความใส่ใจในการดูแลลูกค้า ให้คำแนะนำ เลือกผลิตภัณฑ์ที่ดี และเหมาะสมที่สุดให้แก่ลูกค้า ช่วงแรกลูกค้าจริงๆ คือลูกค้าเงินฝากแบงก์ ที่ชอบออมเงิน เพราะดอกเบี้ยแบงก์ถูก แต่การลงทุนตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากธนาคาร
“ปัจจุบันผมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บล. KPM และดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร จุดแข็งของบริษัทเราคือการรวบรวมมือทองด้านตราสารหนี้จากหลายบริษัทหลักทรัพย์มาทำงานร่วมกัน ซึ่งแต่ละท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารใน KPM โดยจะแบ่งความรับผิดชอบตามสายงานที่แต่ละท่านมีความชำนาญ จึงมั่นใจได้ว่าบุคคลากรของบล. เรานั้น เป็นผู้คร่ำหวอดและมากประสบการณ์อย่างแน่นอน สำหรับกลุ่มลูกค้าของบริษัทนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ คนกู้หรือผู้ออกตราสาร (Issuer) และคนให้กู้ (ผู้ลงทุน) ซึ่งผู้ออกตราสารส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเป็นบริษัทมหาชน โดย KPM จะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ในทุกมิติ ทั้งในส่วนของอัตราผลตอบแทน อายุหุ้นกู้ หลักประกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ของนักลงทุน ทั้งในส่วนของนักลงทุนสถาบัน (II: Institution Investor) และ นักลงทุนรายใหญ่ (HNW: High net Worth)
ฐานลูกค้า
ที่สำคัญกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ KPM คือ กลุ่ม นักลงทุนสถาบัน (II: Institution Investor) และ นักลงทุนรายใหญ่ (HNW: High net Worth) รวมถึง นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW: Ultra High Net Worth) ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ KPM อันได้แก่ ตลาดแรก คือการออกตราสารหนี้ และตลาดรอง คือ การซื้อขายก่อนอายุครบกำหนด ซึ่งตลาดแรกมูลค่าประมาณ 6,000-7,500 ล้านบาท ส่วนตลาดรองมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเรามองว่า การเจริญเติบโตของตลาดตราสารหนี้ ในประเทศไทยยังสามารถเติบโตไปได้อีกมาก รวมถึงยังมีช่องว่างในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนักลงทุนรายใหญ่โดยเรามองว่า KPM สามารถเข้าถึงลูกค้าดังกล่าวได้ดีกว่า สถาบันการเงินทั่วไป ทำให้คาดว่ารายได้ของ KPM จะเติบโตตามตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยได้
สุรศักดิ์ ย้อนภาพเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้จับตราสารหนี้ ทำให้รับรู้ว่าตลาดหุ้นเป็นช่วงขาลง โดยค่าคอมถูกลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2543 ค่าคอม 0.5 หลายโบรกหากลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักลงทุน และหนึ่งในนั้นคือการนำ ระบบ AI เข้ามาเพื่อเสริมอาวุธ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ชอบนั่งเรียน เพราะถือว่านำเงินเพื่อให้โบรกบริหารถือว่าให้ระบบทำงาน และ คำนวณให้หมดว่าจะลงทุนหุ้นตัวใดบ้าง เป็นการให้เงินทำงาน โดย ระบบ AI ทำงาน 24 ชั่วโมง เป็นการคำนวณตั้งแต่ดาวโจนส์ คำนวณหุ้นทั่วโลก มองว่าในอนาคตเทรนการลงทุนจะเปลี่ยนไประบบ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ผลตอบแทน
หากไล่เรียงแล้วสินทรัพย์ของลูกค้าเป็นหลักหมื่นล้านบาท ลูกค้าตราสารหนี้เล่นหุ้นน้อยมากเพราะกลัวความเสี่ยง แต่สัดส่วนการลงทุนจะลงในหุ้น 10% ที่เหลือจะเป็นตราสารหนี้ เพราะตราสารหนี้ให้ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างแน่นอน ไม่มีความผันผวนเหมือนตลาดหุ้น คนเล่นหุ้นคือคนชอบเสี่ยง แต่คนลงทุนในตราสารหนี้จะเป็นคนชอบผลตอบแทนสม่ำเสมอ
ผลลัพธ์ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด ลูกค้ากลัวหมดทุกคน คนเล่นหุ้นเทขายเพื่อถือเงินสด ไม่เว้นแม้แต่ LTF เพราะเกิดความกลัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันเมื่อตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดเป็นศูนย์ คนกลับเข้ามาลงทุน เนื่องจากคลายความวิตกกังวล อารมณ์คนเปลี่ยน ทำให้รู้ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับอารมณ์
“ในส่วนของตลาดทุน โดยภาพรวมคนเข้าใจผิดมองว่าโควิดทำให้ตลาดหุ้นทรุด แต่เป็นความคิดที่ผิด เนื่องจาก เราต้องมีการปรับตัว เพราะเงินกำลังจะถูกโยกจากคนรวยคนหนึ่งไปยังคนรวยอีกกลุ่มหนึ่ง เงินอยู่ที่เดิม แต่เราต้องจับเทรนด์ให้ถูกว่าอนาคตธุรกิจใดจะมา ดังนั้นทุกคนต้องปรับตัว โดยมองว่าธุรกิจเฮลแคร์จะมาและไปได้ ทั้งนี้อย่ามองแค่โรงพยาบาล ในอนาคตธุรกิจอาหารเสริมจะมา เพราะคนจะดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะโควิด ดังนั้น วิถีของคนและวิธีของธุรกิจจะเปลี่ยนไป ซึ่งหากใครจับทางได้ถูกและเร็ว จะได้เปรียบ”
แผนอนาคต
ส่วนกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง บริษัทเตรียมออกตราสารหนี้ โดยเป็นตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทบทั้งสิ้น ที่สำคัญบริษัทจะทำรายการ KPM Insideเริ่มเดือนกรกฏาคม เป็นรายการที่ให้ความรู้ เกี่ยวกับตราสารหนี้ โดยก่อนจะขายบริษัทจะทำคลิปเหมือนเยี่ยมบ้าน บจ .ทั้งนี้ อยากให้ลูกค้าที่ซื้อตราสารหนี้ได้รับรู้ถึงธุรกิจและแผนอนาคต รวมถึงรู้ถึงฐานธุรกิจ โดยคลิปใช้เวลาประมาณ 5-8 นาที
สุรศักดิ์ บอกอีกว่าปัจจัยที่ต้องจับตาเห็นจะเป็นการนำ KPM เข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต โดยตัวแปรสำคัญจะขยายธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินเพิ่ม ซึ่งจะทำให้รายได้เติบโต ในขณะเดียวกันธุรกิจตราสารหนี้ถือเป็นจุดแข็ง เนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้มากว่า 20 ปี ทำให้รู้ถึงปัญหาตั้งแต่ล่างจนถึงบน อีกทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่จบด้านกฏหมายทั้งคู่ ทำให้เราระมัดระวังและรัดกุมให้ลูกค้าได้มากขึ้น
“สมการแห่งความสำเร็จทำให้ 3 ปีจากนี้ไป เมื่อบริษัทเป็นมหาชนและมีกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยจะผลักดันธุรกิจที่มีอยู่ 3 ขา จากตลาดแรก, ตลาดรอง และวาณิชธนกิจ โดยจะนำบริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นตัวเสริมทีมให้กับ KPM เติบโตอย่างครบวงจรอย่างยั่งยืน”
ที่มา : ทันหุ้น